วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีการแข่งเรือกอและ


ประเพณีการแข่งเรือกอและ



      ช่วงเวลา ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่    ๒๑-๒๕ กันยายน ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ 



ความสำคัญ
      ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง 


   ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙
 อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย

สาระ

       การแข่งขันใช้เรือกอและระยะทาง ๖๕๐ เมตร ผู้ควบคุมลำละ ๑ คน จำนวนฝีพายรวมทั้งนายท้ายไม่เกินลำละ ๒๓ คน และมีฝีพายสำรองไม่เกินลำละ ๕ คน การเปลี่ยนตัวในแต่ละเที่ยวทำได้เที่ยวละไม่เกิน ๕ คน ทั้งนี้ให้ผู้ควบคุมทีมประจำเรือแจ้งให้คณะกรรมการปล่อยเรือทราบ เรือที่เข้าแข่งขันทุกลำต้องถึงจุดเริ่มต้น (จุดปล่อยเรือ) ก่อนเวลาที่กำหนดแข่งขันในรอบนั้น หากไปช้ากว่ากำหนดเกิน ๑๕ นาทีถือว่าสละสิทธิ์จะปรับแพ้ในรอบนั้นได้ ก่อนการได้ยินสัญญาณ ณ จุดเริ่มต้นฝีพายทุกคนยกพายให้พ้นผิวน้ำ ยกเว้นนายท้ายเรือให้ใช้พายคัดท้ายเรือบังคับเรือให้หยุดนิ่ง และจะต้องวิ่งในลู่ของตน หากวิ่งผิดลู่หรือสายน้ำถือว่าผิดกติกาให้ปรับเป็นแพ้ในเที่ยวนั้น เรือที่เข้าถึงเส้นชัยก่อนลำอื่นโดยถือหัวเรือสุดเป็นการชนะการแข่งขันในเที่ยวนั้น การแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ รอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เป็นรอบคัดเลือก รอบที่ ๓ เป็นรอบรองชนะเลิศและรอบที่ ๔ เป็นรอบชิงชนะเลิศ

                                      


     นอกจากนั้นทุปีจังหวัดนราธิวาสจะมีการจัดงานของดีเมืองนรา เป็นประจำทุกปี เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ให้เยาวชนได้รู้จักต่อไป
                 
                           


  
  
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล ประเพณีเรือกอและ









วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

การเขียนรายงานที่ดี

การเขียนรายงานที่ดี


ความหมายของรายงาน
        รายงาน  คือ  การเขียนเล่าถึงสิ่งที่ได้พบเห็นหรือได้กระทำมาแล้ว   เช่น  การค้นคว้า ทางวิชาการ  การไปศึกษานอกสถานที่  การไปพักแรมค่ายเยาวชน  การประชุมกลุ่ม  การประสบเหตุการณ์ที่สำคัญ  เป็นต้น
        ลักษณะของรายงานคล้ายย่อความ คือเก็บเฉพาะข้อความสำคัญแต่อาจ เพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างได้ตามสมควร แบบการเขียนรายงานไม่มีข้อกำหนดตายตัว  เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย  อาจกำหนดตามแบบของแต่ละสถาบัน

         


ส่วนต่าง ๆ ของรายงาน  มี  3  ส่วน  ดังนี้
        1.  ส่วนหน้า  ประกอบด้วย  หน้าปก  ใบรองปกหน้า  (กระดาษเปล่า)  หน้าปกใน  หน้าคำนำ  หน้าสารบัญ
        2.  ส่วนกลาง  ประกอบด้วย  เนื้อเรื่อง  เชิงอรรถ
        3.  ส่วนท้าย  ประกอบด้วย  บรรณานุกรม  ภาคผนวก  ใบรองปกหลัง (กระดาษเปล่า)  ปกหลัง


การเขียนส่วนต่าง ๆ ของรายงานแต่ละส่วน
        1.  การเขียนปกรายงานและการเขียนหน้าปกใน 
             1.1  การเขียนปก  ให้เขียนชื่อเรื่อง  และผู้เขียนรายงาน  กลางหน้ากระดาษ  ไม่ต้องใส่คำว่า  ชื่อเรื่อง  และผู้เขียนรายงาน 
             1.2  การเขียนหน้าปกในให้เขียนโดยแบ่งเป็น  3  ส่วน  ดังนี้

                    ส่วนบน  ให้เว้นระยะ  2  นิ้ว  จากขอบกระดาษบนถึงบรรทัดแรกของรายงาน และเขียน ชื่อเรื่องของรายงาน  ใส่เฉพาะชื่อเรื่องที่เขียนรายงาน  ไม่ต้องใส่คำว่า  ชื่อเรื่อง  

                    ส่วนกลาง  เว้นจากส่วนบนลงมาประมาณ  2  บรรทัดใส่คำว่าโดย  และชื่อผู้เขียนรายงาน ไม่ต้องใส่คำว่า  ผู้เขียนรายงาน
                    ส่วนล่าง  ให้เว้นระยะ  1  นิ้ว  จากขอบกระดาษล่างถึงบรรทัดสุดท้ายของส่วนล่าง  บรรทัดแรกของส่วนล่างระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาใด ชั้นอะไร ภาคเรียนที่เท่าใด ปีการศึกษาใด  ใครเป็นครูผู้สอน


        2.  การเขียนคำนำ
             การเขียน “คำนำ” อยู่ห่างจากขอบกระดาษด้านบน  2  นิ้ว ผู้เขียนรายงานจะระบุวัตถุประสงค์ ขอบเขตของเนื้อเรื่อง   หรือแนวการค้นคว้า   และคำขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือให้ การค้นคว้ารวบรวม และเรียบเรียงรายงานนั้นให้สำเร็จลงด้วยดี เมื่อหมดข้อความแล้วลงชื่อผู้เขียน วัน  เดือน ปี  ที่เขียน  ถ้าเป็นรายงานกลุ่มเขียนคำว่า คณะผู้จัดทำ หน้าคำนำมักนิยมใส่เลขหน้าในวงเล็บไว้ด้านล่าง


        3.  การเขียนสารบัญ
             การเขียน  “สารบัญ”  ผู้เขียนรายงานจะแบ่งเป็นบท  เป็นตอนระบุเนื้อเรื่องที่ปรากฏในรายงาน เรียงตามลำดับ การเว้นระยะในการเขียนจะอยู่ห่างจากขอบกระดาษด้านบน  2  นิ้ว  และข้อความในสารบัญ จะอยู่ห่างจากริมซ้ายของกระดาษเข้าไป  1.1  นิ้ว  เริ่มตั้งแต่ คำนำ  บท  และ ชื่อของบท จนถึงส่วนท้าย คือบรรณานุกรม และภาคผนวก เลขหน้าทางด้านขวามือจะอยู่ห่างจากขอบขวาของกระดาษ 1.1 นิ้ว ผู้เขียนรายงานต้องทำรายงานเรียบร้อยแล้วจึงจะระบุเลขหน้าได้ว่า บทใด  ตอนใด  อยู่หน้าใด



การนำบัตรข้อมูลที่บันทึกตามโครงเรื่องมาเขียนเนื้อหาของรายงาน
        การเขียนเนื้อเรื่อง  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด   เพราะผลการค้นคว้ารวบรวมทั้งหมดที่บันทึก ลงในบัตรบันทึกข้อมูลจะนำมาเรียบเรียงไว้ในส่วนนี้ เรียงตามลำดับโครงเรื่องที่ปรากฏในสารบัญ ครอบคลุมตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย ในหน้าแรกของเนื้อเรื่องไม่ต้องใส่เลขหน้าเว้นจากขอบบนของหน้ากระดาษลงมา 2 นิ้ว  ไว้กลางหน้ากระดาษ   ทุกครั้งที่ขึ้นบทใหม่ไม่ใส่เลขหน้าเฉพาะหน้านั้นแต่ให้นับหน้าด้วย การเว้นระยะจากขอบล่างขึ้นมา  ให้เว้น  1 นิ้ว  จากขอบซ้ายของหน้ากระดาษเข้ามาเว้น  1.5  นิ้ว  จากขอบขวาของหน้ากระดาษเข้ามา  เว้น  1 นิ้ว  ส่วนการย่อหน้าทุกครั้งให้เว้น 6  ช่วงตัวอักษร  เขียนตัวที่  7


การทำบรรณานุกรมท้ายเล่ม
        การลงบรรณานุกรม  หากมีเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศให้ลงภาษาไทยก่อน  เรียงตามลำดับประเภท  และในแต่ละประเภทเรียงตามลำดับอักษรผู้แต่ง   หรือเรียงตามลำดับอักษรรวมกันไม่แยกประเภท





ความหมายของบรรณานุกรม
        บรรณานุกรม  คือ  รายชื่อหนังสือเอกสาร  สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งโสตทัศนวัสดุ  และสื่ออีเล็กทรอนิกส์ ที่นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงในการเขียนรายงาน  โดยเรียงตามลำดับอักษรไว้ท้ายเรื่อง

จุดมุ่งหมายในการเขียนบรรณานุกรม
        1.  ทำให้รายงานนั้นเป็นรายงานที่มีเหตุผล  มีสาระน่าเชื่อถือ
        2.  เป็นการเคารพสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่นจึงนำมาอ้างไว้
        3.  เป็นแนวทางสำคัญสำหรับผู้สนใจต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยศึกษาได้จากบรรณานุกรมนั้น ๆ 
        4.  สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นำมาอ้างได้


วิธีเขียนบรรณานุกรม
        การเขียนบรรณานุกรมจากหนังสือ  ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลจากหน้าปกใน และด้านหลังของหน้าปกใน ของหนังสือเล่มที่บันทึกข้อมูลมาเขียนบรรณานุกรม  การเขียนบรรณานุกรมจากวารสาร นำข้อมูลจากหน้าปก ของวารสารฉบับที่บันทึกข้อมูล มาเขียนบรรณานุกรม  และการเขียนบรรณานุกรมจากหนังสือพิมพ์ นำข้อมูลจากหน้าแรกของหนังสือพิมพ์มาเขียนบรรณานุกรม  และการเขียนบรรณานุกรมจากสื่ออีเล็กทรอนิกส์ นำข้อมูลจากหน้าแรกของเว็บเพจมาเขียนบรรณานุกรม    ดังนี้
        1.  เขียนไว้ในส่วนท้ายของรายงาน
        2.  เขียนเรียงลำดับอักษรชื่อผู้แต่ง ในกรณีที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้เขียนบรรณานุกรมภาษาไทยก่อน
        3.  บรรทัดแรกของบรรณานุกรมชิดด้านซ้ายที่เว้นจากขอบกระดาษเข้ามา  1.5  นิ้ว  ถ้ายังไม่จบ เมื่อขึ้นบรรทัดใหม่โดยย่อหน้าเข้ามาประมาณ  7  ช่วงตัวอักษรของบรรทัดแรก  ให้เขียนตรงกับช่วงตัวอักษรที่  8 
        4.  รายละเอียดในโครงสร้างรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือ   มีดังนี้

1. โครงสร้างรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือ

    1.1  การอ้างถึงชื่อผู้แต่ง           1.1.1  ผู้แต่งคนเดียว

           1.1.2  ผู้แต่ง  2  คน ให้ใส่คำว่า  “และ”  เชื่อมระหว่างคนที่  1  กับคนที่  2

           1.1.3  ผู้แต่ง  3  คน  ให้ใส่เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างคนที่  1  กับคนที่  2  และใส่คำว่า  “และ”  เชื่อมระหว่างคนที่  2  กับคนที่  3

           1.1.4  ผู้แต่งตั้งแต่  3  คนขึ้นไป  ลงเฉพาะชื่อแรก  และตามด้วยคำว่า  และคนอื่น ๆ

           1.1.5  หนังสือที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง  ให้ใช้ชื่อเรื่องเป็นรายการแรกแทนชื่อผู้แต่ง

           1.1.6  ผู้แต่งใช้นามแฝง  ให้ใช้นามแฝงได้เลย

           1.1.7  หนังสือแปล  ให้ใส่ชื่อ  นามสกุลของผู้แต่ง ก่อนผู้แปล

           1.1.8  ผู้แต่งมีบรรดาศักดิ์  ให้ใส่ชื่อ  นามสกุล  ตามด้วยบรรดาศักดิ์

    1.2  รูปแบบของบรรณานุกรมหนังสือ 

           รูปแบบของบรรณานุกรม  มี  2  แบบ 

           1.2.1  การอ้างอิงแยกจากเนื้อหาอยู่ท้ายของรายงาน   
                     1)  การอ้างอิงเนื้อหาบางบท  หรือบางตอน  ในหนังสือเล่มเดียวจบ    ให้ใส่ชื่อบท หรือตอน  ใช้คำว่า “ใน” ตามด้วยชื่อหนังสือ  และระบุหน้า  เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์



                     2)  การอ้างอิงเนื้อหาบางบท  หรือบางตอน  ของหนังสือบางเล่มที่มีหลายเล่มจบ ใช้คำว่า “ใน” ตามด้วยชื่อหนังสือ  ระบุเล่ม  และหน้าตามด้วยเลขหน้าที่อ้างอิง เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์

                     3)  การอ้างอิงตลอดทุกเล่มที่มีหลายเล่มจบ  ให้ระบุจำนวนเล่ม ตามด้วย เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์

                     4)  การอ้างอิงเพียงเล่มใดเล่มหนึ่ง  ให้ระบุเล่มที่อ้างอิงตามด้วย เมืองที่พิมพ์ ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์

           1.2.2  การอ้างอิงแทรกในเนื้อหา                     1)  เมื่อต้องการจะแทรกในเนื้อหาสามารถแทรกวงเล็บพร้อมกับอ้างอิงได้ทันที  เมื่อจบข้อความ                          1.1)  รายการอ้างอิง  ประกอบด้วย  ชื่อ  นามสกุลผู้แต่ง ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค ปีที่พิมพ์ ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค  หน้า/เลขหน้าที่อ้างถึง

                          1.2)  หากไม่มีชื่อผู้แต่ง ให้ใช้ชื่อหน่วยงานแต่ง ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค ปีที่พิมพ์ ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค  หน้า/เลขหน้าที่อ้างถึง

                          1.3)  หากไม่ระบุปีที่พิมพ์  และเลขหน้า  ให้ใช้ตัวอักษรย่อ  “ม.ป.ป.”  ย่อมาจากคำว่า  ไม่ปรากฏเลขหน้า  และระบุคำว่า  ไม่มีเลขหน้าลงไปได้เลย

                     2)  ถ้าระบุชื่อผู้แต่งลงในเนื้อหาแล้วอ้างต่อทันทีในวงเล็บ  ไม่จำเป็นต้องระบุ ชื่อผู้แต่งซ้ำอีก

                     ยกเว้นผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติ

                     3)  การอ้างถึงเอกสารที่ไม่สามารถค้นหาต้นฉบับจริงได้  ให้อ้างจากเล่มที่พบ  ใช้คำว่า  “อ้างถึงใน”  หากเป็นบทวิจารณ์  ใช้คำว่า  “วิจารณ์ใน”

                     4)  การอ้างถึงเฉพาะบท  ใช้คำว่า  “บทที่”

                     5)  การอ้างถึงตาราง  ในเนื้อหา  ใช้คำว่า  “ดูตารางที่”  การอ้างถึงภาพในเนื้อหา  ใช้คำว่า  “ดูภาพที่”

2. โครงสร้างและรูปแบบบรรณานุกรมวารสาร

    2.1  การเขียนบรรณานุกรมจากบทความในวารสาร  มีปีที่  และฉบับที่

    2.2  บทความในวารสาร  ที่ไม่มีปีที่  ออกต่อเนื่องทั้งปี

3. โครงสร้างและรูปแบบบรรณานุกรมหนังสือพิมพ์

    3.1  การเขียนบรรณานุกรมบทความในหนังสือพิมพ์

    3.2   การเขียนบรรณานุกรมข่าวจากหนังสือพิมพ์  ให้เขียนหัวข่าว

    3.3  การเขียนบรรณานุกรมจากคอลัมน์จากหนังสือพิมพ์

4. รูปแบบบรรณานุกรมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระบบออนไลน์  (Online) หรืออินเทอร์เน็ต
    4.1  เว็บเพจ มีผู้เขียน  หรือมีหน่วยงานรับผิดชอบ

    4.2  เว็บเพจไม่ปรากฏผู้เขียน  และปีที่จัดทำ ใส่  ม.ป.ป.  (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)



ขอขอบคุณข้อมูล

การเขียนรายงาน( ม ป ป)

(วันที่ค้นข้อมูล 23 กันยายน 2556 )
 
การเขียนบรรณานุกรม
จากเว็บไซต์


(วันที่ค้นข้อมูล 23 กันยายน 2556 )