วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผลงานของนางสาวนัตมะห์ สาและ

โดยนางสาวนัตมะห์  สาและ

ราชมาตา คยาตรี เทวี มหารานีพระองค์สุดท้ายของอินเดีย

คยาตรี เทวี  มหารานีแห่งชัยปุระ
      ราชมาตาคยาตรี เทวี อดีตมหารานีแห่งเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย  ที่เพิ่งจบพระชนม์ชีพที่เปี่ยมไปด้วยสีสันสดแรงไม่แพ้ผืนแพรพรรณส่าหรี เครื่องแต่งกายตามประเพณีของสตรีชนชาตินี้ ด้วยพระชนมายุ 90 พรรษา!
      ยุคนี้พระนาม คยาตรี เทวี อาจไม่คุ้นหูหรือเป็นที่รู้จักกว้างขวางหลากหลายวงการหรือนอกประเทศอินเดีย แต่หากจะอ้างอิงดีกรีที่ทรงเคยได้รับการขนานนามว่าคือ 1 ใน 10 ผู้หญิงที่นิตยสารดังของตะวันตกอย่าง Vouge ยกย่องว่างดงามที่สุดของโลกในสมัยหนึ่งขณะที่ความสาวของพระองค์กำลังสดสะพรั่ง หรือที่ทรงเคยเป็นนักการเมืองหญิงคนสำคัญคนหนึ่งของอินเดียที่มีคุณูปการไม่แพ้ผู้รักชาติคนไหนๆ แม้แต่การ ? นักธุรกิจหญิงเจ้าของโรงแรมสุดหรูที่ดัดแปลงจากพระราชวังหินทรายสีทองสุดโอฬารของกษัตริย์แห่งชัยปุระ
      พูดได้ว่าเรื่องราวของ คยาตรี เทวี ซึ่งพระยศก่อนสิ้นพระชนม์คือ ราชมาตา หรือพระมารดาของมหาราชาพระองค์สุดท้าย (ปัจจุบันอินเดียยกเลิกระบบกษัตริย์แล้ว) ก็ไม่ผิดกับเทพนิยายเรื่องหนึ่งที่มีหลากรสชาติ ทั้งชวนฝัน หรูหรา สุขสบาย ต่อสู้ ตกระกำลำบาก ต้องอดทนอดกลั้น ฝ่าฟันเพื่อเอาชนะ รวมถึงรางวัลและการยอมรับยกย่อง...     
      สมัยที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เวลามีใครเข้าเฝ้าฯ หรือสัมภาษณ์ คยาตรี เทวี มักจะทรงเล่าเรื่องราวความหลังสมัยยังทรงพระเยาว์ ตั้งแต่ประสูติที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 1919 ในฐานะพระธิดาของเจ้าชายแห่งราชวงศ์ Cooch Behar เคยพระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะไทม์ออฟอินเดียถึงพระชนม์ชีพครั้งทรงพระเยาว์ว่าทรงเป็นเด็กหญิงแก่นแก้วที่โปรดการล่าสัตว์และขี่ช้าง แม้เมื่อทรงเจริญพระชนม์ชีพขึ้นเป็นดรุณีแรกรุ่นเป็นเจ้าของความงามโดดเด่นที่ถ่ายทอดจากพระมารดาซึ่งก็เป็นเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งเช่นกัน

      ความสดชื่นในวัยสาวน้อยของ คยาตรี เทวี บวกกับความปราดเปรียวมั่นอกมั่นใจในตัวเองทำให้พระองค์ทรงเป็นหญิงรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์หรูล้ำนำสมัย (ยุคนั้น) เพราะแม้จะแก่นแก้วเพียงใดพระองค์ก็ทรงไม่ลืมที่จะน้อมนำรูปแบบจากวิถีเดิมๆ ของชาวฮินดูมาผสมผสานไว้ในตัวเองได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่ว่าพระองค์จะทรงโลดแล่นออกไปสนุกสนานกับเทนนิส โปโล หรือการขี่ม้าที่โปรดปราน
    
        ทรงเป็นเจ้าหญิงเลอโฉมที่ สดใสร่าเริงราวกับนกน้อย จึงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนนัก จะกล่าวว่าพอๆ กับที่เคยเกาะติด เจ้าหญิงไดอานา แห่งอังกฤษนั่นทีเดียว แต่ดูว่า คยาตรี เทวี จะน่าสนใจกว่าในแง่ของความห้าวหาญและชื่นชอบเรื่องผาดโผน ทรงรักการเดินทางผจญภัย มิหนำยังทรงเป็นหญิงนักแม่นปืนชนิดหาตัวจับยาก จากที่เคยพระราชทานสัมภาษณ์ว่า ได้ทรงยิงเสือดาวตัวแรกในพระชนม์ชีพเมื่อมีพระชันษาเพียง 12 ปีเท่านั้น ทำให้พระมารดา มหารานีอินทิรา เทวี ที่โปรดปรานนิยายผจญภัยของ เซอร์ไรเดอร์ แฮกการ์ด อย่างมาก ทรงตั้งพระนามเล่นให้พระธิดาองค์นี้ว่า Ayesha ตามชื่อนางเอกนิยายเรื่องโปรดเสียเลย

      ด้วยพระสิริโฉมทำให้ คยาตรี เทวี สามารถจะเลือกแต่งงานกับชายใดในโลกที่ทรงต้องการก็ได้ทั้งนั้น แต่เจ้าหญิงในวัยกำดัดกลับยินดีที่จะอภิเษกกับมหาราชาสวาอัย มัน ซิงห์ เจ้าชายนักกีฬาโปโลแห่งชัยปุระที่ทรงมีพระชายาอยู่แล้วถึง 2 องค์ ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนั้นก็สร้างความตกอกตกใจให้กับทั้งสองครอบครัวไม่น้อยทีเดียว
     ก่อนเข้าพิธีอภิเษกในวัย 20 ปี น้องชายของเทวีเคยกล่าวกับพระองค์ว่า มหาราชาโปรดปรานหญิงงาม และเพียงเพราะพระองค์แต่งงานกับเธอ ไม่ได้แปลว่าจะทรงเลิกกับผู้หญิงคนอื่นๆ นะ    
     คยาตรี เทวี เจ้าหญิงจากรัฐเบงกอลตะวันตก ผู้มีชีวิตชีวาและสนุกกับการผจญภัย


ในวันสดชื่นเคียงข้างพระสวามี มหาราชาไจ หรือ สวาอัย มันซิงห์ ผู้ครองนครชัยปุระ
       ตอนนั้นว่าที่มหารานีชัยปุระทรงตอบกลับอย่างเด็ดเดี่ยวและเย่อหยิ่งอย่างยิ่งว่า ทรงไม่จำเป็นต้องมีหญิงอื่นอีกแล้วก่อนจะก้าวเข้าสู่พระราชวงศ์แสนงามและชีวิตที่ประกอบด้วยภรรยาอีก 2 คนของสามีอย่างเชื่อมั่น
      หลังอภิเษก คยาตรี เทวี ก็ทรงศักดิ์มีพระยศเป็นมหารานีองค์หนึ่ง ซึ่งฐานะรานีผู้เคียงบัลลังก์มหาราชาแห่งชัยปุระทำให้ทรงโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งกาย เครื่องประดับทุกชิ้นที่นำมาใช้กับเรือนร่าง มหารานีจะทรงเลือกแบรนด์ที่ดีที่สุด หรูหราที่สุดในขณะนั้น เทสต์ด้านแฟชั่นที่มีสไตล์เฉพาะตัวนี้ทำให้ทรงถูกนำมาเปรียบเทียบกับอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 สหรัฐอย่าง แจ็กเกอลีน เคนเนดี อยู่เนืองๆ

      ขณะที่โลกแฟชั่นก็พากันจับตามอง นิตยสารหลายฉบับเจนตากับมหารานีผู้มีเรือนผมสีน้ำตาล ส่าหรีผ้าชีฟองพลิ้วไหว เครื่องเพชรชิ้นเบิ้มๆ ชุดใหญ่ เพิ่มความอลังการให้ใบหน้าและดวงตาโตคมกริบอย่างสาวอินเดียขนานแท้เป็นภาพประทับใจ ทำให้ คยาตรี เทวี กลายเป็นแฟชั่นไอคอนของอินเดีย ...และเป็นจุดเริ่มต้นของภาพชีวิตอันหรูหราเลิศล้ำจนเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้
 ทั้งสองพระองค์ทรงคุ้นเคยดีกับสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งอังกฤษ (พระองค์กลาง) ทรงเคยร่วมทริปล่าสัตว์ด้วยกันเนืองๆ
      รูปแบบชีวิตที่จะทรงไปใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนเพื่อการพักผ่อนในยุโรป  และส่งพระโอรสองค์เดียวไปศึกษาในโรงเรียนเอกชนชั้นสูงในอังกฤษ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้คนที่สนใจติดตามครอบครัวผู้ครองนครชัยปุระได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

      ต่อมาเมื่อหมดสมัยของพระสวามี มหาราชาสวาอัย มันซิงห์  มหารานีคยาตรี เทวี ก็ได้เลื่อนพระยศเป็นราชมาตา (Queen Mum-พระชนนี)  โอรสองค์เดียว จกัตซิงห์ ซึ่งอภิเษกกับ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต พระธิดาองค์เล็กในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต-ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต ราชนิกูลคนดังของบ้านเรา ณ ประเทศอังกฤษก็ทำให้คยาตรี เทวี มีพระนัดดาแท้ๆ  เป็นลูกครึ่งอินเดีย-ไทย 2 คน คือ นางสาวลลิตยา กุมารี และนายเทพราช ซิงห์  ต่อมาคู่สมรสหย่าร้างกันไปเมื่อปี 2530 ราชนิกูลชาวไทยจึงออกจากราชวงศ์แห่งชัยปุระและกลับมาพำนักในบ้านเรา

      กระทั่งมหาราชจกัตซิงห์สิ้นพระชนม์ และมีการเปิดพินัยกรรมพบว่าทรัพย์มรดกราว 8 พันล้านบาท ที่มีชิ้นหลักคือ พระราชวัง Jai Mahal มูลค่า 1,000 โกฎิ (1 โกฏิ = 10 ล้านรูปี) ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปใช้ในกิจการโรงแรมเครือ Taj Group ในชัยปุระ ของจกัตซิงห์ที่ีควรจะเป็นของทายาทเพียง 2 คน ที่อาศัยอยู่กับมารดาที่เมืองไทยกลับตกเป็นของราชมาตาคะยาตรี เทวีผู้เป็นย่าของทายาทชาวไทยทั้งหมด นาม คยาตรี เทวี จึงเป็นที่รู้จักของชาวไทยที่ติดตามข่าวการทวงความเป็นธรรมในมรดกของ 2 พี่น้องลูกครึ่งไทย-ราชนิกูลอินเดียคู่นี้ด้วย
      ความขัดแย้งในมรดกของจกัตซิงห์ทำให้บางด้านบางส่วนของความเป็น คยาตรี เทวี ถูกเปิดเผยให้ผู้คนได้เห็นอีกด้านของเจ้าหญิงแสนงามผู้เป็นไอคอนของสตรีอินเดียว่าเบื้องหลังความสง่างาม เลิศหรู คยาตรี เทวีนั้นเรียกได้ว่ามีความตระหนี่ถี่เหนียวเรื่องการเงินไม่เสมอภาคกันระหว่างตนเองกับคนอื่น พูดง่ายๆ ว่าใช้เงินสองมาตรฐาน ถ้าเป็นการใช้จ่ายกับตัวเองแล้วจะเต็มที่ตามความพอใจ แต่กับคนอื่นแล้วจะเหนียวแน่นควักไม่ออกเลยทีเดียว จากคำบอกเล่าถึงความอึดอัดคับข้องใจในการใช้ชีวิตที่ชัยปุระในฐานะชายาของมหาราชจกัตซิงห์ และพระสุนิสาของคยาตา เทวี ที่ไม่เอื้อเฟื้อดูแลความเป็นอยู่ต่อลูกสะใภ้ราชนิกูลชาวไทยนัก ฯลฯ
ซึ่งเรื่องราวการเงินอันเหนียวแน่นของ คยาตรี เทวี นั้นที่จริงแล้วก็ถูกเล่าลือลับหลังมาเป็นระยะ     
      อย่างเรื่องเล่าที่แฝงมากับภาพความหรูหราของชีวิตในช่วงหลังของเธอ  ที่ว่ากันว่ามักจะพยายามจัดงานเลี้ยงย่อยๆ ยามแปรพระราชฐานจากพระตำหนักแฟลตในไนท์บริดจ์ ลอนดอนหลบอากาศหนาวเย็นกลับมาที่พระตำหนักสระลิลลี่ อันเป็นที่พำนักที่สร้างขึ้นเคียงกับพระราชวัง Rambagh วังใหญ่ที่ถูกแปลงสภาพเป็นโรงแรม 5 ดาว ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชอบความหรูหราอยากสัมผัสบรรยากาศของพระราชวังแห่งชัยปุระ


      งานเลี้ยงนี้ราชมาตาจะเชื้อเชิญบรรดาแขกวีไอพีระดับหรูที่เข้าพักโรงแรมในช่วงนั้นให้ไปดื่มแชมเปญยามเย็นที่ตำหนักในลิลลี่เป็นพิเศษแบบส่วนตัว งานนี้พบปะกันแล้วเป็นที่ถูกอกถูกพระทัย ต้องชะตาราชมาตาก็แล้วไป แต่หากว่าแขกคนไหนเห็นหน้าหรือเจรจากันแล้วผลออกมาไม่ต้องอัธยาศัย แขกคนนั้นก็จะต้องพบกับชะตากรรมแผ่นบางๆ ที่มาในรูปบิลเรียกเก็บค่าแชมเปญมื้อนั้นเป็นการส่งท้ายเมื่อกลับถึงห้องพัก!
      หรือจะเป็นตอนที่เทวีเล่าไว้เองในหนังสือ และส่วนหนึ่งเป็น A Princess Remembers ที่กล่าวว่า เช้าวันหนึ่งทรงบอกคนขับรถให้พาพระองค์ออกไปช็อปปิ้ง ซึ่งคำว่าช็อปปิ้งของพระองค์คือการขับรถไปตามถนนในย่านเซอร์เรย์ ที่อังกฤษก่อนจะจบความสำราญวันนั้นด้วยการแวะซื้อบ้านหลังโตที่บังเอิญผ่านไปเห็นแล้วเกิดชอบใจขึ้นมาแบบง่ายดายราวกับซื้อรองเท้า
      วัง Rambagh พระราชวังใหญ่ประจำตระกูลที่ทรงตัดสินพระทัยปรับปรุง เพื่อเปิดบริการให้เป็นโรงแรมสุดหรูในเครือ Taj Group ร่วมกับกลุ่มธุรกิจของ Tata ตระกูลนักธุรกิจใหญ่ติดอันดีบโลก ที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมหนักอย่างเหล็ก และยานยนต์
      ช่างน่าแปลกที่เรื่องเล่าเหล่านี้ให้ภาพคนละเรื่องราวกับกฎบ้านที่ราชมาตากำชับเหล่าราชบริพารที่พระตำหนักสระลิลลี่ให้ปฏิบัติ ว่าไม่ว่าใครจะไปหรือใครจะมา ไม่ว่าเทวีเจ้าของตำหนักจะอยู่หรือไม่ แขกที่มาเยือนจะต้องได้น้ำมะนาวเย็นๆ มาดื่มให้ชุ่มฉ่ำลำคอเป็นการต้อนรับขั้นต้น
     “เป็นคำสั่งของมหารานีที่กำชับว่าจะไม่มีใครไม่ได้ดื่มน้ำก่อนออกจากบ้านหลังนี้ แม้จะเป็นเวลาที่ไม่ได้ทรงประทับอยู่ก็ตาม ทรงหางานให้พวกเราที่มาจากคุชพิหารได้ทำกันในพระราชวังแห่งนี้บัตเลอร์อาวุโสคนหนึ่งของตำหนักลิลลี่เล่า พร้อมยืนยันว่า คยาตรี เทวี มีน้ำพระทัยมากที่จะหางานการและหน้าที่ที่เหมาะสมให้กับชาวเบงกอลตะวันตกถิ่นกำเนิดของเทวี
      และหลักฐานสำคัญอย่างการ เสียสละตัวเองปฏิบัติราชการงานเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเร่ืองการผลักดันให้เกิด Maharani Gayatri Devi Girls’ School โรงเรียนสำหรับสตรีแห่งแรกขึ้นในชัยปุระ เพื่อให้ผู้หญิงอินเดียได้มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมผู้ชาย และยังช่วยรื้อฟื้นและเผยแพร่ศิลปะการทำเครื่องถ้วยชามลายครามของอินเดียที่ กำลังจะสาบสูญให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาอีกครั้ง
      ทรงมีบทบาทในงานการเมืองไม่ น้อยสมเป็นสตรีหัวใหม่เช่นกัน หลังจากสงครามแบ่งแยกดินแดนและวันประกาศอิสรภาพในอินเดียสิ้นสุดลงเมื่อปี 1947 มหารานีทรงได้รับคะแนนโหวตถึง 192,909 จาก 246,516 คะแนน (ได้รับการบันทึกลงในกินเนสบุ๊ค) ทำให้พรรคการเมืองของพระองค์ได้เป็นผู้นำรัฐบาลชุดที่สองที่ก่อตั้งขึ้นหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครองในอินเดีย
      อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษ 70 ที่นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีของอินเดียทำการลดทอนพระราชอำนาจของราชวงศ์ในอินเดีย คะยาตรี เทวีทรงถูกสั่งจำคุกเป็นเวลาถึง 5 เดือน ที่ทรงยื่นมือเข้าไปวุ่นวายกับการออกกฎหมายเรียกเก็บภาษี เมื่อพ้นโทษพระองค์ก็ได้ออกหนังสืออัตชีวประวัติส่วนพระองค์ A Princess Remembers รวมถึงสร้างภาพยนตร์ Memoirs of a Hindu Princess ซึ่งกำกับโดย Francois Levie และเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมานับแต่นั้น


 .  ..หลังจากได้รับการเฝ้า ดูแลรักษาเป็นเวลานาน 10 วันเต็ม จากความเจ็บป่วยด้วยปัญหาในช่องท้องและระบบทางเดินหายใจ ราชมาตา มหารานี คยาตรี เทวี ก็สิ้นพระชนม์ลงอย่างสงบเมื่อวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2009 เป็นการขีดเส้นใต้ จบเรื่องราวของชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยสีสันตระการตา ที่กลายเป็นตำนานความงาม และหญิงเก่ง แห่งชัยปุระ ของอินเดีย



ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล
คยาตรี เทวี  มหารานีแห่งชัยปุระ
จากเว็ปไซด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น